top of page
หลวงพ่อแก้ว
ประวัติหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จังหวัดชลบุรี
หลวงพ่อแก้ว เกิดในปลายรัชกาลที่ ๑ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๗ ในครอบครัวชาวประมง จังหวัดเพชรบุรี บางตำราระบุว่าท่านเป็นคนบางแก้ว อ.บ้านแหลมจังหวัด จ.เพชรบุรี และได้อุปสมบทที่วัดพระทรง จังหวัดเพชรบุรี หลวงพ่อแก้ว มรณภาพ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ สิริอายุประมาณ ๙๔ ปี
เมื่อท่านมีอายุพอสมควรแล้วบิดามารดาของท่านก็ได้พาท่านไปฝากกับสมภารวัดในระแวกนั้นเพื่อให้ท่านมีโอกาสเล่าเรียนหนังสือไทยและขอม ด้วยท่านเป็นผู้มีปัญญามาก สามารถเรียนได้รวดเร็ว ท่านสมภารจึงเห็นว่าหากไห้ท่านบวชเป็นสามเณรจะได้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป หลังจากที่ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้พากเพียรเล่าเรียนตำรับตำราต่างๆ โดยเฉพาะมูลกัจจายนสูตร เมื่อท่านอายุครบบวชแล้ว ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ความที่ท่านเป็นผู้มีความเพียรความอดทนเป็นที่ตั้งแล้ว ท่านจึงมีความสนใจใคร่ศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาให้แตกฉานยิ่งขึ้น ก็ได้เข้าไปศึกษาบาลีไวยากรณ์ซึ่งตามภาษาโบราณเรียกว่า เรียนหนังสือใหญ่ที่กรุงเทพ
ในขณะที่เรียนในกรุงเทพ ท่านได้ไปขึ้นกรรมฐานกับสำนักวัดราชสิทธาราม ซึ่งในสมัยนั้นมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นพระปรมาจารย์ของสำนัก เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชสุกมีพระพรรษาชราภาพมากแล้ว พระองค์ทรงมอบหมายให้พระพรหมมุนีชิต เป็นผู้สอนกรรมฐานและการลบผงวิเศษต่างๆ แทนเมื่อหลวงพ่อแก้วเรียนสำเร็จ ท่านได้ออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ ท่านได้ธุดงค์ผ่านมาทางภาคตะวันออก และได้มาพักแรมอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งในตัวเมืองจังหวัดชลบุรี ซึ่งในสมัยนั้น จังหวัดชลบุรี ยังเป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณต่างๆ มองไปทางไหนก็พบแต่ความเวิ้งว้างว่างเปล่าของน้ำทะเล สาเหตุเนื่องมาจากผลของสงคราม ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทำการกู้อิสรภาพนั่นเอง
วัดวาอารามต่างๆ ที่ถูกทำลาย ก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู ชาวบ้านที่อยู่ในถิ่นฐานนั้น ส่วนมากมีการศึกษาน้อย เพราะขาดการเหลียวแล จะเป็นด้วยวาสนาของชาวจังหวัดชลบุรีหรืออย่างไรไม่ทราบ ที่ทำให้ท่านธุดงค์ผ่านมาทางนี้ และด้วยเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ของท่าน ทำให้ท่านมีความคิดที่จะปลุกฝังญาติโยมในละแวกนั้น ให้เข้าถึงหลักธรรมของพระพุทธองค์ จึงปักกลดอยู่ที่นั้น เพราะความน่าเลื่อมใสของท่าน ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างก็นำอาหารมาทำบุญ ส่วนชาวบ้านที่นิยมของขลัง เมื่อเห็นพระรุกขมูลมา อีกทั้งมีวัตรปฎิบัติแปลกว่าพระธุดงค์รูปอื่นก็เกิดความเลื่อมใส เข้าไปขอเครื่องรางของขลังกับท่าน ส่วนท่านเมื่อมีญาติโยมมาหาท่านก็เชื้อเชิญต้อนรับด้วยธัมมปฏิสันถาร เพราะท่านมีธรรมเป็นเครื่องให้
เมื่อใครเอ่ยปากขอของขลังจากท่าน ท่านก็ให้ของขลัง และของที่ให้ก็ดีจริงๆ อันประกอบไปด้วยบทคาถามหามนต์ขลัง เพราะการเดินธุดงค์ท่านจะหอบหิ้วเอาวัตถุของติดตัวมาด้วยนั้น ท่านคงหอบหิ้วไม่ไหวแน่ ท่านคงมีแต่บทคาถามหามนต์ขลังเท่านั้น เมื่อเขาออกปากท่านก็ให้ ตามหลักกตัญญุตากตเวทิตาธรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ โดยให้คาถาบทภาวนา ระลึกถึงพระรัตนตรัย เมื่อญาติโยมในระแวกนั้นเกิดความเลื่อมใส ทำให้ท่านเริ่มบูรณะซากสลักหักพัง ของวัดร้างวัดหนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากญาติโยมในละแวกนั้นเป็นอย่างดีจนพอใช้การได้แล้ว ท่านก็ได้ตั้งชื่อว่า " วัดเครือวัลย์ " คงถือเอานิมิตที่มีเถาวัลย์ปกคลุมอยู่มากมายนั่นเอง
มีหลักฐานปรากฏว่าหลวงพ่อแก้ว มักจะเดินทางไปที่เพชรบุรีเสมอๆ ท่านอาจะมาเยี่ยมภูมิลำเนาและญาติโยมดั้งเดิม โดยมาทางน้ำและจอดเรือไว้ที่ท่าน้ำใต้ต้นไทร เหนือวัดมหาธาตุ (เดิม) ใน จ. เพชรบุรี บางแหล่งข้อมูลระบุว่าท่านอาจจะเป็นพระองค์เดียวกับหลวงพ่อแก้ว วัดปากทะเล จ. เพชรบุรี ก็อาจจะเป็นไปได้
ท่านได้สร้างวัดเครือวัลย์สร้าง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๐ ( รัชกาลที่ ๓ )
วัดเครือวัลย์ ตั้งอยู่เลขที่ ๗๔๙ ถนนโพธิ์ทอง ตำบลมะขามหย่ง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
วิดีทัศน์
พระปิดตา หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์
"พระปิดตา" พระเครื่องอีกประเภทหนึ่งที่มีพุทธศิลปะเป็นเอกลักษณ์ และยังแสดงถึง "นัย" หรือ "ปริศนาธรรม" แห่งงานพุทธศิลปะอย่างโดดเด่น คือ การปิดทวารหรือทางเข้าทางออกแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลายซึ่งมีอยู่ 9 ทางในร่างกายมนุษย์ ได้แก่ ตา 2 จมูก 2 หู 2 ปาก 1 รวมทั้งช่องขับถ่ายด้านหน้าและหลังอีก 2 รวมเป็น “ทวารทั้งเก้า” เพื่อกั้นกิเลสจากภายนอกไม่ให้เข้ามาสู่ภายใน เพื่อจุดหมายแห่งการปฏิบัติกรรมฐานนั่นเอง
bottom of page