top of page
'พระปิดตา หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์' ราชาแห่งพระปิดตา
"พระปิดตา" พระเครื่องอีกประเภทหนึ่งที่มีพุทธศิลปะเป็นเอกลักษณ์ และยังแสดงถึง "นัย" หรือ "ปริศนาธรรม" แห่งงานพุทธศิลปะอย่างโดดเด่น คือ การปิดทวารหรือทางเข้าทางออกแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลายซึ่งมีอยู่ 9 ทางในร่างกายมนุษย์ ได้แก่ ตา 2 จมูก 2 หู 2 ปาก 1 รวมทั้งช่องขับถ่ายด้านหน้าและหลังอีก 2 รวมเป็น “ทวารทั้งเก้า” เพื่อกั้นกิเลสจากภายนอกไม่ให้เข้ามาสู่ภายใน เพื่อจุดหมายแห่งการปฏิบัติกรรมฐานนั่นเอง
ประเทศไทย เริ่มมีการสร้างพระปิดตามาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานปรากฏพบพระปิดตายุคแรก เป็นเนื้อโลหะ
คือ “พระปิดตากรุวัดท้ายย่าน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท” และมาเริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรื่อยมา โดยวัสดุที่ใช้สร้างองค์พร มีทั้งเนื้อชินตะกั่ว เนื้อผงคลุกรัก เนื้อผงใบลาน เนื้อผงมวลสาร เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเมฆพัด และ เนื้อเมฆสิทธิ์ เป็นต้น
ในกระบวนพระปิดตาของพระเกจิคณาจารย์แต่โบราณที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมนั้นมีหลายสำนักด้วยกัน อาทิ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี, พระปิดตาวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), พระปิดตา วัดหนัง, พระปิดตา วัดทอง, พระปิดตาหลวงปู่ศุข, พระปิดตาแร่บางไผ่วัดโมลี, พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม ฯลฯ แต่ถ้าพูดกันถึง “พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก” ทุกคนต้องนึกถึง พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี เป็นอันดับแรก เพราะถือเป็นสุดยอดพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก ซึ่งนอกเหนือจากพุทธลักษณะที่งดงาม ยังทรงคุณคุณเป็นที่กล่าวขานทั้งโชคลาภ โภคทรัพย์ และคงกระพันชาตรี โดยเฉพาะเรื่อง ‘มหาเสน่ห์และเมตตามหานิยม’ นั้นเอาเป็นว่า ‘แค่เศษผงปลิวก็เป็นเรื่องแล้ว’
นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบของพระปิดตาเกือบทุกวัด จนได้รับสมญาว่า ‘ราชาแห่งพระปิดตาเนื้อผง’
และได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในชุด “เบญจภาคีพระปิดตา” ที่มีค่านิยมสูงที่สุด ณ ปัจจุบัน เอาเป็นว่า ของแท้ๆ สภาพสวยสมบูรณ์ องค์ละหลายสิบล้านทีเดียว พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลวงพ่อแก้ว ใช้มวลสารจากว่านมงคล 108 ชนิด อาทิ ไม้ไก่กุก กาฝากรัก กาฝากมะยม กาฝากมะขาม ฯลฯ มาผสมกับ ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงพุทธคุณ นำมาบดเป็นผงแล้วกรอง จากนั้นใช้น้ำรักเป็นตัวประสาน และเม็ดรักซึ่งได้จากต้นรักที่เป็นมงคลนามตำผสมลงไป แล้วกดพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ ดังนั้น เนื้อองค์พระจะละเอียด นอกจากนี้มักปรากฏเม็ดสีน้ำตาล สีแดง ซึ่งเกิดจากว่านขึ้นประปราย และถ้าหากองค์พระสึกจะเห็นเนื้อในละเอียดเป็นสีน้ำตาลอมดำ คนโบราณจึงเรียก ‘เนื้อกะลา’ เพราะจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ คล้ายกะลาเก่าขัดมัน พระบางองค์จะมีการจุ่มรักหรือปิดทอง ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นรูปสามเหลี่ยมมุมโค้งคล้ายๆ เล็บมือ องค์พระประธานประทับนั่ง ขัดสมาธิราบ พระวรกายอวบอ้วน ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระเนตร ในลักษณะป้องทั้งพระพักตร์ พิมพ์ด้านหน้า แบ่งออกเป็น 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์จิ๋ว และพิมพ์ปั้น จุดตำหนิสำคัญที่ควรพิจารณาอันดับแรกของ “พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว” ทุกองค์ทุกพิมพ์ คือ ต้องปรากฏ “เส้นศิระมณฑล” (เส้นรัศมี) รอบพระเศียร, สะดือต้องจุ่นออกมา และ ข้อศอกด้านขวาขององค์พระสูงกว่าด้านซ้ายเล็กน้อย
พิมพ์ใหญ่ เป็น “พิมพ์นิยม” พระหัตถ์ที่ปิดหน้ามีลักษณะอูมและนูนขึ้นทั้งสองข้าง ไม่ปรากฏนิ้วพระหัตถ์ กรณีพระสึกปลายพระหัตถ์ทั้งสองข้างจะเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันกับพระนลาฏ, มีกระจังบน แต่ความลึกตื้นแต่ละองค์ไม่เท่ากัน, พระกรรณด้านขวาขององค์พระติดพระอังสา ส่วนด้านซ้ายห่างเล็กน้อย, พระอังสาด้านขวาขององค์พระจะสูงกว่าด้านซ้ายเล็กน้อย, ข้อพระหัตถ์ทั้งสองข้างเล็กและแยกห่างเป็นร่องขึ้นไปเห็นได้ชัดเจน, พระพาหา (ตั้งแต่หัวไหล่ถึงศอก) ทั้งสองข้างมีลักษณะอวบหนา ด้านนอกโค้งคล้ายกล้าม, พระเพลาอยู่ในท่านั่งสมาธิขัดราบ เป็นลำนูนหนาทั้งสองข้าง และปรากฏร่องเป็นแนวเฉียงที่คมลึกและชัด, ส้นพระบาทเรียวและกระดกขึ้นเล็กน้อย ปลายพระบาทงอนเล็กน้อย ปรากฏกำไลข้อพระบาทและส้นพระบาท, ด้านขวาบนจะโค้งคล้ายคันธนู ส่วนปลายเรียวบาง ถ้าพระกดพิมพ์ลึกจะเห็นปลายพระบาทยาวถึงแนวขอบนอกของพระพาหาด้านซ้าย อันถือเป็นจุดตำหนิสำคัญประการหนึ่ง
พิมพ์กลาง พระเศียรลักษณะกลมมน ไม่ปรากฏพระพักตร์ เนื่องจากพระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นปิดไว้ และไม่ปรากฏนิ้วพระหัตถ์, พระกรรณทั้งสองข้างห่างจากพระพักตร์เล็กน้อย ลักษณะเป็นเส้นเรียวยาวแนวเฉียงจรดพระอังสาที่ยกสูงเสมอกันทั้งสองข้าง, พระพาหา (ตั้งแต่หัวไหล่ถึงศอก) ทั้งสองข้างมีลักษณะอวบหนาและกางออกด้านข้างเล็กน้อย ส่วนพระกร (ตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ) ทั้งสองอวบหนาเช่นกัน ข้อพระหัตถ์ทั้งสองข้างห่างเป็นร่องขึ้นไปเห็นได้ชัดเจน, พระกัปประ (ข้อศอก) ทั้งสองข้างโค้งมนได้รูป, พระเพลาอยู่ในท่านั่งสมาธิขัดราบ เป็นลำนูนหนาทั้งสองข้าง และปรากฏร่องเป็นแนวเฉียงที่คมลึกและชัด
พิมพ์เล็ก พระเศียรลักษณะกลมมน ไม่ปรากฏพระพักตร์ เนื่องจากพระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นปิดไว้ และไม่ปรากฏนิ้วพระหัตถ์, พระกรรณติดชิดกับพระพักตร์มองคล้ายเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้พระพักตร์ดูกลมแบนและใหญ่กว่าปกติ, พระพาหา (ตั้งแต่หัวไหล่ถึงศอก) ทั้งสองข้างอวบหนาและทิ้งดิ่งลงมา ส่วนพระกร (ตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ) ทั้งสองอวบหนาแต่เล็กกว่าพระพาหา บางองค์ข้อพระหัตถ์ไม่ต่อเนื่องกับพระหัตถ์ จนมองดูคล้ายกับแขนด้วน, พระกัปประ (ข้อศอก) ทั้งสองข้างโค้งมนและยาวเกือบจรดพระเพลา, พระอุทรนูนพองาม ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม, พระเพลาอยู่ในท่านั่งสมาธิขัดราบ เป็นลำนูนหนาทั้งสองข้าง และปรากฏร่องเป็นแนวเฉียงที่คมลึกและชัด
แม่พิมพ์ด้านหลัง ยังแบ่งเป็น 3 พิมพ์ คือ พิมพ์หลังแบบ, พิมพ์หลังเรียบ และ พิมพ์หลังยันต์
พิมพ์หลังแบบ ด้านหลังเป็นรูปองค์พระเหมือนด้านหน้าแต่กดเว้าลึกลงไป ช่วงพระเศียรจะไม่ลึกมากและรีคล้ายไข่เป็ด องค์ที่ติดชัดจะเห็นนิ้วพระหัตถ์รำไร นอกจากนี้การกดพิมพ์ลึกตื้นไม่เท่ากัน และขอบข้างไม่หนานัก
พิมพ์หลังเรียบ ด้านหลังเป็นหลังเรียบปกติ
พิมพ์หลังยันต์ (อุทับถม) ด้านหลังองค์พระจะมี “อักขระยันต์” ประทับไว้ โดยการใช้แม่พิมพ์กดประทับ จึงลึกคมชัดสม่ำเสมอ เพิ่มความเข้มขลังมากขึ้นกว่าพิมพ์อื่นๆ แต่มีจำนวนน้อยมาก
พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี ทุกพิมพ์ ค่านิยมขึ้นหลักล้านทั้งหมด มากน้อยขึ้นกับสภาพความสวยงามสมบูรณ์ขององค์พระครับผม
bottom of page